|
|||
ความสำคัญของการสอบบัญชี
การบริหารการเงินของธุรกิจที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงความสามารถในการดำเนินการของฝ่ายจัดการ และการบันทึกบัญชีที่จัดทำขึ้นก็เพื่อแสดงฐานะของกิจการ ณ วันสิ้นงวดบัญชีให้แก่ผู้เกี่ยวข้องอันประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ฝ่ายจัดการ ผู้ลงทุน ส่วนราชการ ได้ทราบ งบการเงินดังกล่าวจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปกับหลักฐานและเอกสารต่างๆ
การสอบบัญชี (Audit) คือ การตรวจสอบสมุดบัญชีของธุรกิจนั้นๆ ตลอดจนเอกสารประกอบการลงบัญชี รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงบัญชีว่าได้ปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปอย่างถูกต้องหรือไม่
ผู้สอบบัญชี (Auditor หรือ Public Accountant) จะต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” (Certified Public Accountant) และให้บริการทางด้านการสอบบัญชี ได้แก่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบัญชี การวางรูปบัญชี การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับภาษีอากร ตลอดจนบริการด้านบริหารการเงินอื่นๆ ที่ให้บริการแก่ลูกค้าเฉพาะราย
งานส่วนใหญ่ของผู้สอบบัญชี คือ การสอบบัญชี ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการตรวจสอบด้านต่างๆ การจัดทำรายงานการสอบบัญชี การให้ความเห็นต่องบการเงิน การเปิดเผยข้อมูลให้เพียงพอ ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อความถูกต้องของงบการเงิน
วัตถุประสงค์ของการสอบบัญชี
ตามมาตรฐานการสอบบัญชี ฉบับที่ 200 เรื่องวัตถุประสงค์และหลักการพื้นฐานของการสอบบัญชีได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการสอบบัญชีดังนี้ “การตรวจสอบงบการเงินมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินว่างบการเงินนั้นได้จัดทำในส่วนสาระสำคัญเป็นไปตามแม่บทการบัญชีในการรายงานทางการเงินหรือไม่”
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบงบการเงิน คือ การแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการโดยถูกต้องตามควรในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่
การสอบบัญชี การสอบบัญชี หมายถึง กระบวนการรวบรวม และการประเมินหลักฐานเกี่ยวกับสารสนเทศเพื่อระบุและรายงานเกี่ยวกับระดับความสอดคล้องต้องกันของสารสนเทศนั้นกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้และสื่อสารผลลัพธ์ให้ผู้ใช้ที่สนใจ
กระบวนการสอบบัญชี การสอบบัญชีเป็นกระบวนการของการรวบรวมและประเมินหลักฐานการสอบบัญชี เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสามารถสรุปผลการตรวจสอบ และจัดทำรายงานการสอบบัญชีได้
กระบวนการสอบบัญชีแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอน
1. กระบวนการวางแผน 1.1 การพิจารณารับงานสอบบัญชี 1.2 การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจที่ตรวจสอบ 1.3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบในเบื้องต้น 1.4 การกำหนดระดับความมีสาระสำคัญ 1.5 การประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีที่ยอมรับได้และความเสี่ยงสืบเนื่อง 1.6 การทำความเข้าใจระบบการควบคุมภายในและการประเมินความเสี่ยงจากการควบคุม 1.7 การพัฒนาแผนการสอบบัญชีโดยรวมและการจัดทำแนวการสอบบัญชี
2. การปฏิบัติงานตรวจสอบ ประกอบด้วย การทดสอบการควบคุมและการตรวจสอบเนื้อหาสาระ 2.1 วงจรรายได้ 2.2 วงจรรายจ่าย 2.3 วงจรการผลิต 2.4 วงจรการลงทุน 2.5 วงจรการจัดหาเงิน 2.6 การตรวจสอบที่สำคัญเพิ่มเติม
3. การเสร็จสิ้นการสอบบัญชีและการออกรายงานการสอบบัญชี 3.1 การประเมินผลจากหลักฐานการสอบบัญชี 3.2 การเสนอรายการปรับปรุงและรายการจัดประเภทบัญชี 3.3 การออกรายงานการสอบบัญชี
ประเภทของการตรวจสอบ
1. การตรวจสอบงบการเงิน หมายถึง การตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีและรายงานทางการเงิน เช่น งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อประเมินว่าข้อมูลดังกล่าวมีความสมบูรณ์ เชื่อถือได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยผู้สอบบัญชีทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินเพื่อแสดงความเห็นต่อความถูกต้องของงบการเงินนั้น โดยปฎิบัติตามหลักการพื้นฐาน ดังต่อไปนี้ - มรรยาทผู้สอบบัญชี - มาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป - การใช้วิจารณญาณในการสังเกต และสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
2. การตรวจสอบการดำเนินการ หมายถึง การสอบทานขั้นตอน วิธีการปฏิบัติงานและภาระหน้าที่ต่างๆในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่า ลำดับขั้นตอนในการปฎิบัติงานและภาระหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และผลของงานนั้นได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
3. การตรวจสอบการปฎิบัติงานตามกฏระเบียบ หมายถึง การตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าการปฎิบัติงานขององค์กรเป็นไปตามกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแล และกฏระเบียบนโยบายขององค์กร
มาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป
มาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป หมายถึง แนวทางการปฎิบัติงานของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องปฎิบัติงานตรวจสอบงบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งกำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชีประกอบด้วยหลักการพื้นฐานและวิธีการตรวจสอบที่สำคัญ รวมทั้ง แนวทางปฎิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในปัจจุบัน สภาวิชาชีพได้จัดทำร่างมาตรฐานการสอบบัญชีเพื่อใช้แทนมาตรฐานการสอบบัญชีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยทีมงาน AMTaudit & AMTsolution
|
|||