Q&A สภาวิชาชีพบัญชี
การบันทึกบัญชีทั่วไป :
เนื่องจาก บริษัทประกอบกิจการศูนย์อาหาร มีทั้งขายเอง และให้ร้านค้าย่อยเข้าไปขายอาหารในศูนย์อาหาร และศูนย์อาหารแบ่งรายได้ให้แก่ร้านค้าย่อยเป็นค่าอาหาร ซึ่งทางสรรพากร ถือว่าการประกอบกิจการศูนย์อาหาร เป็นการบริการตามมาตรา 77/1(10) จึงขอสอบถามว่า จากที่กล่าวมา ต้องบันทึกบัญชีว่าอย่างไร ถือเป็นการบริการเหมือนกับสรรพากรหรือไม่ และในส่วนที่บริษัทเปิดร้านขายเองในศูนย์อาหาร ต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ประเภทใด ถือระหว่างรายได้จากการขายหรือรายได้จากการบริการ จึงจะถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
(คำถามเดือนตุลาคม 2559)
A:
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 เรื่อง รายได้ (TAS 18) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) บทที่ 18 เรื่อง รายได้ มิได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับการแยกประเภทของรายได้ ว่าเมื่อใดเป็นการขายสินค้า หรือเมื่อใดเป็นการให้บริการ กำหนดเพียงว่าการรับรู้รายได้จากการขาย และรายได้จากการบริการมีจุดรับรู้ที่แตกต่างกัน โดยย่อหน้าที่ 14 ของ TAS18 หรือย่อหน้าที่ 326 ของ TFRS for NPAEs กำหนดว่า
กิจการต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อดังต่อไปนี้
1. กิจการได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีนัยสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้กับ
ผู้ซื้อแล้ว
2. กิจการไม่เกี่ยวข้องในการบริหารสินค้าอย่างต่อเนื่องในระดับที่เจ้าของพึงกระทำ หรือไม่ได้ ควบคุมสินค้าที่ขายไปแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. กิจการสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ
4. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น
5. กิจการสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากรายการบัญชีนั้น ได้อย่างน่าเชื่อถือ
ในขณะที่ TAS 18 ย่อหน้าที่ 20 หรือ ย่อหน้าที่ 334 ของ TFRS for NPAEs กำหนดว่า
เมื่อผลของรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสามารถประมาณได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้อง รับรู้รายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเป็นรายได้ตามขั้นความสำเร็จของรายการ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ผลของรายการสามารถประมาณได้อย่างน่าเชื่อถือเมื่อเป็นไป ตามเงื่อนไข
ทุกข้อต่อไปนี้
1. กิจการสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ
2. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการนั้น
3. กิจการสามารถวัดขั้นความสำเร็จของรายการ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานได้อย่างน่าเชื่อถือ และ
4. กิจการสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้วและต้นทุนที่จะเกิดขึ้นเพื่อทำให้รายการนั้นเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ ย่อหน้าที่ 6 และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) บทที่ 8 เรื่อง สินค้าคงเหลือ ย่อหน้าที่ 86 ระบุว่า
86. สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
86.1 ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ
86.2 อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย
86.3 อยู่ในรูปของวัตถุดิบ หรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ
ดังนั้น กิจการต้องพิจารณาเนื้อหาของรายการบัญชีที่เกิดขึ้นของทั้งกรณีศูนย์อาหารแบ่งรายได้ให้แก่ร้านค้าย่อยเป็นค่าอาหารและกรณีบริษัทเปิดร้านขายเองในศูนย์อาหาร ว่ามีลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยหากกิจการมีสินทรัพย์ที่ถืออยู่และเข้าคำนิยามของสินค้าคงเหลือดังกล่าวข้างต้น และต่อมามีการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนในสินค้าคงเหลือตามเงื่อนไขการรับรู้รายได้จากการขาย จึงน่าจะถือเป็นการขายสินค้า และให้รับรู้รายได้ตามการขายสินค้า แต่หากกิจการไม่มีการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนในสินค้าคงเหลือซึ่งเป็นสินทรัพย์ของกิจการและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการรับรู้รายได้ จึงน่าจะถือเป็นการให้บริการ กิจการต้องพิจารณาตามเงื่อนไขของการรับรู้รายได้จากการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถศึกษาข้อมูลของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีและศึกษาตัวอย่างงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในธุรกิจที่คล้ายคลึงกับกิจการท่านในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่อประกอบการพิจารณาประเภทของรายได้ของท่าน
ทั้งนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และข้อมูลที่มากกว่า เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
ข้อมูลสภาวิชาชีพบัญชี
ทีมงาน AMTaudit
บริการรับตรวจสอบบัญชี และบริการรับตรวจสอบภายใน
(Audit & Assurance Services)
ข้อมูลบริษัทฯ https://www.amtaudit.com
Office: 02-309-3550 and 02-184-1846
fax: 02-115-1486
ID Line: @amtaudit