|
|||
Q&A สภาวิชาชีพบัญชี มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 105 : รบกวนสอบถามเรื่องการตีความข้อความใน มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 หัวข้อการจัดประเภทเงินลงทุน ข้อ 17. "หากกิจการลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด กิจการต้องจัดประเภทของเงินลงทุนตามลักษณะความสัมพันธ์...ฯลฯ..." ดิฉันมีความเข้าใจว่าคำว่า "ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" หมายถึง มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น 1. หากมีตราสารทุนเพียงพอที่จะมีอิทธิพลอย่างเป็นสาระสำคัญ ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนในบริษัทร่วม" 2. หากมีตราสารทุนเพียงพอที่จะสามารถควบคุมกิจการที่ไปลงทุน ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนในบริษัทย่อย และทำงบการเงินรวม" 3. หากมีตราสารทุนที่ไม่ถึงขั้นที่มีอิทธิพลอย่างเป็นสาระสำคัญ หรือสามารถควบคุมกิจการได้ ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนทั่วไป" แต่กรณีที่เป็นกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เท่าที่ดูในหัวข้อนี้ไม่มีการกล่าวถึง ดังนั้นจึงขอความอนุเคราะห์สอบถามว่า ตามมาตรฐานบัญชีดังกล่าว กิจการจะต้องจัดประเภทเงินลงทุนเหมือนหรือแตกต่างจากกรณี "ตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" หรือไม่ อย่างไร หากดิฉันเข้าใจคำว่า "ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" ผิด ขอให้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ (คำถามประจำเดือนมีนาคม 2559) A: ตามที่ท่านถามมานั้นขอชี้แจงดังนี้ 1. มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 105 เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ไม่ครอบคลุมถึง เงินลงทุนในบริษัทย่อย (ย่อหน้าที่ 2.2) บริษัทร่วม (ย่อหน้าที่ 2.3) และการร่วมค้า (ย่อหน้าที่ 2.4) ซึ่งเงินลงทุนเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องคือ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 27 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ ดังนั้น หากเป็นเงินลงทุนที่เข้าข่ายของกลุ่มบริษัท ให้ไปพิจารณาตามมาตรฐานฉบับดังกล่าว แต่หากไม่ใช่เงินลงทุนของกลุ่มบริษัทให้พิจารณาตามมาตรฐานฉบับนี้ โดยการจัดประเภทสำหรับเงินลงทุนตามมาตรฐานฉบับนี้ให้จัดประเภทตามย่อหน้าที่ 10 ของมาตรฐานฉบับนี้ กล่าวคือบริษัทต้องจัดประเภทก่อนว่าเงินลงทุนดังกล่าว อยู่ในความต้องการของตลาดหรือไม่ ถ้าอยู่ ในความต้องการของตลาด ให้พิจารณาว่าเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า / เผื่อขาย / ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด (หากมี) ตามคำนิยามของตราสารแต่ละประเภท แต่หากเงินลงทุนดังกล่าวไม่อยู่ในความต้องการของตลาด ก็จะถือเป็นเงินลงทุนทั่วไป 2. คำว่าตลาด ในที่นี้ให้หมายถึงตลาดซื้อขายคล่องทุกประเภทที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนได้ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ยังรวมถึงตลาดตราสารอื่น ๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือ ตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ให้ศึกษาคำนิยามของ "ตลาดซื้อขายคล่อง" และ "หลักทรัพย์หรือเงินลงทุนในความต้องการของตลาด" ในหน้าที่ 3 ของมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว ข้อมูลสภาวิชาชีพบัญชี ทีมงาน AMTaudit (Audit & Assurance Services) Office: 02-309-3550 and 02-184-1846 |
|||