Q&A สภาวิชาชีพบัญชี
การนำเสนองบการเงิน :
สอบถามเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัทจำกัด กรณีที่เปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี
บริษัทเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี จากเดิม 1 มกราคม - 31 ธันวาคม เป็น 1 พฤศจิกายน - 31 ตุลาคม โดยวันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2559 เป็นรอบแรกที่เปลี่ยน
1. งบการเงินปีก่อนที่นำมาแสดงเปรียบเทียบควรเป็นรอบระยะเวลาใด
2. สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2559- 31 ตุลาคม 2559 การนำตัวเลขมาเปรียบเทียบ จะเป็นระยเวลาเพียง 10 เดือน จะมีประเด็นอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง
3. รบกวนขอตัวอย่างการเขียนหน้ารายงานผู้สอบบัญชีแบบใหม่ที่มีวรรคเรื่องการเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
(คำถามเดือนมีนาคม 2560)
A:
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน กำหนดในย่อหน้าที่ 38 และ 38ก ดังนี้
38 หากมาตรฐานการรายงานทางการเงินมิได้อนุญาตหรือกำหนดเป็นอย่างอื่น กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบของงวดก่อนสำหรับทุกรายการที่แสดงจำนวนเงินในงบการเงินงวด
ปัจจุบัน กิจการต้องรวมข้อมูลเปรียบเทียบที่ เป็นข้อมูลเชิงบรรยายและพรรณนาหากข้อมูลนั้นช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถเข้าใจงบการเงินของงวดปัจจุบัน
38ก กิจการต้องแสดงงบแสดงฐานะการเงินอย่างน้อยสองงบ งบกำไรขาดทุนและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นอย่างน้อยสองงบ งบกำไรขาดทุนที่แสดงแยกต่างหากอย่างน้อยสองงบ (ถ้ามีการนำเสนอ) งบกระแสเงินสดอย่างน้อยสองงบ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของอย่างน้อยสองงบและหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ขออนุญาตตอบตามหัวข้อที่ท่านได้ถาม ดังนี้
1.งบที่นำมาเปรียบเทียบสำหรับงบแสดงฐานะการเงินควรเป็นงบการเงิน ณ วันที่สิ้นรอบระยะเวลารายงานของงวดก่อนหน้า ซึ่งคือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 สำหรับงบกำไรขาดทุน และงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ ต้องแสดงอย่างน้อยสองงบ (ถ้ามีการนำเสนอ) โดยท่านต้องพิจารณาว่าข้อมูลใดจะให้ประโยชน์ใน
การเปรียบเทียบแก่ผู้ใช้งบการเงิน ตามกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน ดังนั้น การแสดงข้อมูลเปรียบเทียบสำหรับการเปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาบัญชี ไม่ได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในมาตรฐานการบัญชี กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบของงวดก่อน คือ วันที่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2558 และเปิดเผยหมายเหตุประกอบงบการเงินเกี่ยวกับการจดทะเบียนเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีจากรอบระยะเวลาบัญชีเดิมเป็นรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ เพื่ออธิบายความแตกต่างของรอบระยะเวลาบัญชี รวมทั้งเปิดเผยเหตุผลในการใช้งวดที่ยาวกว่าหรือสั้นกว่าหนึ่งปี และข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนเงินเปรียบเทียบที่แสดงในงบการเงินไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ทั้งหมดตามย่อหน้าที่ 36 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2559) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน
2.ตามที่กล่าวในข้อ 1 กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงินกำหนดให้กิจการจัดทำงบการเงินที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ (comparability) ดังนั้น ท่านต้องพิจารณาว่าข้อมูลใดจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งบการเงินในแง่ของการเปรียบเทียบกันได้มากกว่ากัน
3. รูปแบบในการเขียนเรื่องดังกล่าวมิได้มีกำหนดตายตัวไว้ในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และมาตรฐานการสอบบัญชี เพียงแต่มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ระบุไว้ว่า หมายเหตุประกอบงบการเงินจะต้องให้ข้อมูลอื่นเพิ่มเติมที่ไม่ได้นำเสนอไว้ที่ใดในงบการเงินแต่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการทำความเข้าใจงบการเงินเหล่านั้น อีกทั้งมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 706 ย่อหน้าที่ 8 ระบุว่า หากผู้สอบบัญชีพิจารณาว่าจำเป็นต้องขอให้ผู้ใช้งบการเงินสังเกตเรื่องที่ได้แสดงหรือเปิดเผยไว้แล้วในงบการเงิน ซึ่งภายใต้ดุลยพินิจของผู้สอบบัญชีแล้ว เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อความเข้าใจของผู้ใช้งบการเงินเกี่ยวกับงบการเงิน ผู้สอบบัญชีต้องเพิ่มวรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์ในรายงานของผู้สอบบัญชี ดังนั้น ขอให้ท่านปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ทั้งสองฉบับ
นอกจากนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าเพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลสภาวิชาชีพบัญชี
ทีมงาน AMTaudit
บริการรับตรวจสอบบัญชี และบริการรับตรวจสอบภายใน
(Audit & Assurance Services)
ข้อมูลบริษัทฯ https://www.amtaudit.com
Office: 02-309-3550 and 02-184-1846
fax: 02-115-1486
ID Line: @amtaudit